เงินบาทแข็งค่า นักลงทุนปรับลดคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบหน้า

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

เงินบาทแข็งค่า หลังนักลงทุนปรับลดคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบหน้า ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มแสดงความต้องการที่จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจเข้าส่ภาวะการชะลอตัว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 38.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/10) ที่ระดับ 38.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนลดคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเนในเดือน ธ.ค. หลังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ล่าสุด Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 53.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. ลดลงจากเดิมที่เคยให้น้ำหนักมากถึง 75% นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 93% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในขณะนี้ รวมทั้งวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงในการคุมเข้มนโยบายการเงินมากเกินไป รายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มแสดงความต้องการที่จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ และเตรียมส่งสัญญาณอนุมัติการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดต่ำลงในเดือน ธ.ค.

นางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เฟดจะเริ่มหารือกันเกี่ยวกับการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงเกินไป รายงานดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับความเคลื่อนไหวภายในประเทศ น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยหลักมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ หลังตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐออกมาสูงกว่าคาด และอาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นในระยะข้างหน้า รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศอังกฤษ หลังการประกาศลาออกจากตำแหน่งของอดีตนายกรัฐมนตรี Liz Truss

นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของจีนที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 38.07-38.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 38.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 0.9885/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/10) ที่ระดับ 0.9742/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังการคาดการณ์ของนักลงทุนดังกล่าว ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ ในขณะที่เพิ่มการถือครองสกุลเงินยูโรมากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9854-0.9898 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9870/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 148.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/10) ที่ระดับ 150.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นแบบฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 2 ในวันนี้ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภท 20 ปี พุ่งทำนิวไฮ ซึ่งทำให้ BOJ ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการปกป้องจุดยืนด้านการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการควบคุมอัตราผลตอบแทนนั้น BOJ ยืนยันว่า ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นการฉุกเฉินอีกครั้ง โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรอายุระหว่าง 10-25 ปี ในวงเงิน 1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 665.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ระดับ 0.25% เป็นเพดานที่ BOJ กำหนดไว้ตามมาตราการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.71-149.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.91/193 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. จาก Conference Board (25/10), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2565 (27/10), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.ย. (28/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7/-5.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ